นายมั่น น้อยสกุล อายุ 91 ปี อดีตท่านเคยเป็นสมาชิกอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อ.ส.ม) และแพทย์ประจำตำบล ปัจจุบันท่านเป็นหมอเมืองพื้นบ้านที่รักษาโดยการนวดแผนพื้นบ้านและการใช้ยาสมุนไพร และได้ทำการเผยแพร่ภูมิปัญญาให้กับประชาชนทั่วไปที่มีใจรักและสมัครใจที่จะเข้ามาสืบทอดและจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
การนวดแผนพื้นบ้าน การบำบัดทางกายโดยวิธีการนวดจับเส้นโดยใช้มือนวดจับเส้นตามจุดต่างๆของกล้ามเนื้อและเป็นการนวดที่มีรูปแบบตามภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เน้นเกี่ยวกับการนวดเส้น และก่อนการนวดจะทำพิธีกรรมเพื่อวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามความเชื่อของคนในพื้นที่นี้จะเชื่อกันว่าอาการเจ็บป่วยต่างๆเกิดมาจากการถูกผีร้ายกระทำ
1. การบีบเส้น การนวดโดยใช้นิ้วทั้ง4 จับตามแนวเส้นบีบไล่ไปตามแนวเส้น เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตและลม ลดอาการปวดเมื่อยจากเส้นเอ็นตึงหดรัดเส้นลวด
2. การเขี่ยเส้น(การคิดเส้น) การจับเส้นโดยใช้นิ้วโป้ง กดบนเส้นด้านหนึ่ง แล้วใช้นิ้วกดรับอีกด้านหนึ่ง แล้วเขี่ยตวัดนิ้วโป้งขึ้นไปคนละด้านตามแนวเส้น
3. การโกยเส้น การจับเส้นโดยใช้ปลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว กดบนเส้นแล้วควักโกยขึ้น ส่วนมากใช้ในการโกยมดลูกหรือโกยเส้นในกรณีไส้เลื่อนในผู้ชาย
4. การประคองเส้น วิธีการจับเส้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาผู้ที่มีการปากเบี้ยว โดยหมอจะใช้มือข้างหนึ่งกดดันเส้นปากด้านที่มีอาการ แล้วใช้อีกมือหนึ่งประคองด้านตรงข้าม
5. การดันเส้น วิธีการจับเส้นโดยใช้สันมือด้านหนึ่งผลักหรือดันไปตามแนวเส้น และใช้มืออีกด้านหนึ่งจับประคองอวัยวะนั้นทำให้เส้นคลาย
6. การจกเส้น การแหย่นิ้วหัวแม่มือเข้าไปใต้กระดูกหรือกล้ามเนื้อ แล้วคิดหรือเขี่ยเส้นออกมา เส้นติดอยู่ข้างในนวดเท่าไหร่ก็ไม่ออก
7. การถกเส้น การดึงเส้น เพื่อแก้เส้นสลับเข็ดที่ติดอยู่ข้างใน ที่นวดแล้วไม่ออก
8. การรีดเส้น วิธีการจับเส้น โดยใช้นิ้วหัวแม่มือ หรือส้นเท้ารีดไปตามเส้นทั่วทั้งร่างกาย เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อ อัมพฤกษ์ อัมพาต ชามือ-เท้า
9. การเหยียบเส้น วิธีการจับเส้นโดยใช้เท้าเหยียบไปตามแนวเส้น ขา หน้าขา ขาด้านนอก ด้านใน กล้ามเนื้อน่องขึ้นไปหาเอว
หมายเหตุ การนวดของพ่อหมอจะเป็นใช้นิ้วมือกดลงไปถึงเส้นเอ็นปืด(ดึง)เส้นเอ็นออกมาพร้อมกับหนัง(หากไม่ทำแบบนี้หนังจะฉีก) และหลังการรักษาพ่อหมอจะห้ามไม่ให้รับประทานอาหาร เช่น หน่อไม้และผงชูรส เป็นต้น